วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ตั้งอยู่ในพระราชวังโบราณสมัยอาณาจักรอยุธยา นอกจากนี้ มีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาส ไม่มีส่วนสังฆาวาส

ประวัติ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด อาคารประธานของกลุ่มอาคารนี้ คือ พระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิธาตุพิมาน หอพระราชพงศานุสรณ์ หอพระราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง และหอพระคันธารราษฎร์ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มฐานไพที เป็นกลุ่มอาคารที่ประดิษฐานบนฐานยกพื้นขนาดใหญ่บริเวณลานด้านทิศเหนือของกลุ่มพระอุโบสถ รองรับปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญ เช่น พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทพระเทพบิดร พระสุวรรณเจดีย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์ กลุ่มที่สามคือกลุ่มอาคารประกอบ ประกอบด้วย หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

คำว่า “พระศรีรัตนศาสดาราม” เป็นการสมาสสนธิระหว่างคำ คือ “ศรีรัตนศาสดา” กับ “อาราม” โดยคำว่าศรีรัตนศาสดา หมายถึงฉายาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นนามที่ใช้เรียกแทนพระองค์ว่าเป็นศาสดาที่เปรียบเป็นพระผู้ประเสริฐ เป็นศรีรัตน เปรียบได้กับแก้วอันประเสริฐ ซึ่งกล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเอกแห่งรัตนตรัย ซึ่งคือ แก้ว 3 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์คำว่า อาราม คือ วัด ดังนั้น “พระศรีรัตนศาสดาราม” หมายถึง วัดสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอารามซึ่งประดิษฐานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]

ประวัติภูมิหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพิเคราะห์เห็นว่าชัยภูมิของกรุงธนบุรีไม่มั่นคงแข็งแรงสําหรับการต่อต้านข้าศึก สู้ชัยภูมิทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เพราะเป็นที่แหลมมีแม่น้ำเป็นขอบเขตกว่าครึ่ง ซึ่งอาจอาศัยแม่น้ำเป็นปราการต้านข้าศึกได้เป็นอย่างดี มูลเหตุสําคัญอีกประการหนึ่งคือ มีพระบรมราโชบายที่จะสร้างพระมหานครใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองละม้ายกรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิมโดยเร็วที่สุดโดยสถานที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่เดิมเป็นที่ดินซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและบรรดาชาวจีนซึ่งเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารอยู่ในครั้งนั้นได้ตั้งเคหสถานบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน จึงได้พระกรุณาโปรดเกล็าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐีและบรรดาชาวจีนทั้งปวงยกย้ายไปตั้งเคหสถานบ้านเรือนไปอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังและการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2325 โดยสร้างตามประเพณีการสร้างพระอารามหลวงในเขตพระราชวังที่มีมาตั้งแต่อดีต เช่น วัดมหาธาตุในพระราชวังของอาณาจักรสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังโบราณของอาณาจักรอยุธยา ลักษณะสำคัญของพระอารามหลวงในพระราชวังคือมีเพียงเขตพุทธาวาส ไม่มีเขตสังฆาวาส

 

ส่วนพระระเบียงรอบบริเวณพระอารามนั้น น่าจะสร้างขึ้นแต่ในระยะแรกด้วย เป็นแนวระเบียงที่ต่างจากปัจจุบัน กล่าวคือ แนวพระระเบียงด้านตะวันออกและตะวันตกสร้างเป็นแนวตรง ยังมิได้ต่อคดขยายไป มีประตูเป็นทางเข้าออกสี่ด้าน ด้านตะวันออกมี 2 ประตู ตรงหน้าพระอุโบสถประตูหนึ่ง ตรงหน้าหอพระมณเฑียรธรรมออกมาตรงกับประตูสวัสดิโสภาที่กำแพงพระบรมมหาราชวังประตูหนึ่ง ด้านตะวันตกมี 3 ประตู ด้านเหนือมี 1 ประตู ใกล้กับประตูมณีนพรัตน์ที่กำแพงพระบรมหาราชวัง ด้านใต้มี 1 ประตู ได้รับพระราชทานนามว่า ประตูศรีรัตนศาสดา ผนังพระระเบียงเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บริเวณถัดจากหอพระมณเฑียรออกไปในแนวเดียวกันตรงที่เป็นพระวิหารยอดในปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเทพบิดร หรือพระเชษฐบิดร ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา แล้วพระราชทานนามพระวิหารตามพระพุทธรูปว่า หอพระเชษฐบิดร เรียกกันสามัญว่า วิหารขาว ด้านตะวันออกของหอพระมณเฑียร ทรงสร้างพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองปิดทอง 2 องค์ ประดิษฐานอยู่มุมชั้นทักษิณด้านตะวันออกของปราสาทพระเทพบิดร[5]

ในการสถาปนาระยะที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2331–2352 ได้สร้างพระมณฑปขึ้นแทนหอพระมณเฑียรธรรมหลังเดิม ด้านตะวันออกของพระมณฑปนั้น เดิมมีพระสุวรรณเจดีย์ 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ มีสระก่ออิฐอยู่ระหว่างพระสุวรรณเจดีย์ และมีการสร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่ทางมุมพระระเบียงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อสร้างพระมณฑปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองเป็นการใหญ่ ต่อมามีการสร้างหอระฆังระหว่างพระอุโบสถกับพระระเบียงด้านใต้ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระนากขึ้นทางมุมพระระเบียงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ[6] หลังสถาปนาสิ่งต่าง ๆ ในพระอารามแล้วจึงมีงานสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2352

 

บทความแนะนำ